จากการสำรวจและศึกษาพบว่านักศึกษาที่เข้าเรียนวิชาดนตรีในระดับปริญญาตรีมีความรู้ความสามารถไม่พอ เนื่องจากความรู้พื้นฐานทางดนตรีน้อย และเริ่มเรียนดนตรีช้าเกินไป นอกจากนี้เด็กที่เรียนดนตรี ไม่ได้มีความสนใจดนตรีเท่าที่ควร จึงมีคำถามเกิดขึ้นมากมาย ทำไมเด็กไทยแตกต่างไปจากเด็กที่เล่นดนตรีในยุโรป ทำไมเด็กปี่พาทย์เล่นดนตรีตั้งแต่ยังเล็กและเก่งได้ ทำไมเด็กเรียนดนตรีที่โรงเรียนแล้วไม่เก่ง เป็นต้น เมื่อเดือนเมษายน 2538 คณะผู้บริหารศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์ ได้จัดมหกรรมดนตรี มีการประกวดวงดนตรีเครื่องเป่า การแสดงดนตรีคลาสสิค นิทรรศการดนตรี ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้คนพอสมควร เมื่อสิ้นสุดงานมหกรรมดนตรีทางผู้บริหารเสรีเซ็นเตอร์ก็เสนอให้ช่วยคิดโครงการต่อเนื่อง ดังนั้นโครงการศึกษาดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไปจึงถูกนำเสนอทันที โครงการศึกษาดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไป ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนกรกฎาคม 2538 แล้วเสร็จเปิดโครงการเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2538 เพื่อที่จะศึกษาค้นคว้าความสามารถความถนัดทางดนตรีของเด็ก ภายใต้งานวิจัยเรื่องพรสวรรค์ศึกษา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล งานวิจัยพรสวรรค์ศึกษาในโครงการศึกษาดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไป ทำหน้าที่ศึกษาค้นคว้าความถนัดและความสามารถทางดนตรีของเด็ก ขณะเดียวกันก็เปิดรับบุคคลทั่วไปที่อยากจะเรียนดนตรีเพื่อความสุขส่วนตัว เรียนดนตรีเพื่อเป็นหุ้นส่วนชีวิตหรือเรียนดนตรีเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจก็ตาม ซึ่งมีผู้สนใจเข้าเรียน ส่งลูกหลานเข้าเรียนดนตรีเป็นจำนวนมาก นักเรียนสามารถเรียนได้เป็นรายชั่วโมง รายสัปดาห์ รายเดือน และรายภาคการศึกษาขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ ระบบการเรียนส่วนใหญ่จัดให้เรียนแบบตัวต่อตัว เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ มีครูประจำ พนักงานประจำ ครูพิเศษ มีผู้จัดการโครงการ โดยโครงการเปิดสอนทุกวันเหมือนกับศูนย์การค้าที่ให้บริการทุกวัน โครงการศึกษาดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไป วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นโครงการนำร่องของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ บริหารจัดการด้วยตนเอง จัดกิจกรรมดนตรี ทำหน้าที่ทางวิชาการและบริการสังคม เป็นต้นแบบของการจัดการศึกษาในศูนย์การค้า ทำให้โฉมหน้าของการศึกษาดนตรีในประเทศไทยเปลี่ยนไป ส่งผลให้เกิดโรงเรียนดนตรีตามมาตรา 15(2) เกิดขึ้นมากมาย ศูนย์การค้าทุกศูนย์มีโรงเรียนดนตรี การศึกษาดนตรีได้ขยายเป็นวงกว้างขวางขึ้น โครงการศึกษาดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไป ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ จัดการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรที่จัดทำและพัฒนาขึ้นโดยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ แบ่งโครงสร้างหลักสูตรเป็น 4 ขั้น12 ระดับ ได้แก่ ขั้นดนตรีพื้นฐานสำหรับเด็กเล็ก ขั้นเตรียมเครื่องมือ ปฏิบัติเครื่องมือ (12 ระดับ) และหลักสูตรเรียนรวมวง โดยแบ่งออกเป็น 8 ภาควิชา ประกอบด้วยภาควิชาเปียโน ภาควิชาเครื่องสายตะวันตก ภาควิชาเครื่องเป่าและเครื่องกระทบ ภาควิชากีตาร์ ภาควิชาทฤษฎีดนตรี ภาควิชาดนตรีสำหรับเด็กเล็ก ภาควิชาดนตรีไทย และภาควิชาขับร้อง แต่ละภาควิชามีการจัดสอบวัดระดับความสามารถทางดนตรีตามหลักสูตรที่วิทยาลัยกำหนด ในเดือนมกราคม 2556 โครงการศึกษาดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไป วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ สาขาซีคอนบางแคจึงได้กำเนิดขึ้น บนพื้นที่ 1,798 ตารางเมตร โดยศูนย์การค้าซีคอนบางแคเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างให้ทั้งหมด เริ่มเปิดทำการ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 ปัจจุบันมีนักเรียนประมาณ 182 คน มีพนักงานประจำ 5 คน อาจารย์ประจำ 2 คน อาจารย์พิเศษ 19 คน มีห้องเรียนสำหรับเรียนเดี่ยว 40 ห้อง ห้องเรียนรวมวง 6 ห้อง และห้องแสดงคอนเสิร์ตขนาด 120 ที่นั่ง 1 ห้อง |